
CLIMATE CHANGE: หนักกว่าที่คาด! รายงานโดย Arctic Monitoring and Assessment Programme (AMAP) เผยพื้นที่อาร์กติกนั้นร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 3 เท่า ซึ่งร้อนขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ หวั่นผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นต่อทั้งโลก
.
น้ำแข็งทะเลอาร์กติกเป็นเหยื่อได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น โดยแต่ละองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อพื้นที่ ซึ่งหากโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม (ขณะนี้ร้อนขึ้นแล้วราว 1.1 องศาเซลเซียส) จะทำให้น้ำแข็งทะเลอาจหายไปทั้งหมดในช่วงฤดูร้อน
รายงานชี้ว่าภายในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ช่วง 1971-2019 ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิที่สูงขึ้นในบริเวณอาร์กติกเพิ่มขึ้นราว 3.1 องศาเซลเซียส เทียบกับทั้งโลกที่อยู่ที่ราว 1 องศาเซลเซียส โดยส่งผลกระทบต่อความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วไม่ว่าจะเป็นการลดน้อยลงของน้ำแข็งทะเล แผ่นน้ำแข็งละลายในกรีนแลนด์ และไฟป่า
ความร้อนขึ้นส่งผลต่อระบบนิเวศในอาร์กติก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของที่อาศัย แหล่งอาหาร พฤติกรรมระหว่างสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นมีขั้วโลก และสัตว์อพยพอื่นๆ
ซึ่งรายงานชิ้นใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าอาร์กติกร้อนขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยรายงานจาก IPCC ของสหประชาชาติในปี 2019 ชี้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวอาร์กติกร้อนขึ้นกว่า 2 เท่าของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก
นักวิจัยชี้ว่าจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 2004 ที่อุณหภูมิในอาร์กติกสูงขึ้นมากอย่างไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอุณหภูมิก็พุ่งสูงขึ้นในอัตรามากกว่าหลายสิบปีก่อนหน้านั้นถึง 30%
.
พื้นที่นี้กำลังเผชิญปรากฏการณ์ความร้อนในฤดูหนาวที่ยาวนานขึ้น ขณะฤดูร้อนก็มีความร้อนในมหาสมุทรที่ทำให้น้ำแข็งทะเลละลายมากขึ้น โดยความร้อนขึ้นของโลกก็ไม่มีท่าทีที่จะลดลง
รายงานคาดการณ์ว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้อุณหภูมิเฉลี่ยในอาร์กติกจะสูงขึ้น 3.3 -10 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 1985-2014 อย่างไรก็ตามอุณหภูมิที่จะสูงขึ้นในอนาคตขึ้นอยู่กับการลงมือของมนุษย์ในการลดก๊าซเรือนกระจก
มากไปกว่านั้น ตั้งแต่ไซบีเรียไปจนถึงอะแลสก้ากำลังเผชิญไฟป่าที่จะกลายเป็นปัญหามากขึ้น ควันจากไฟเหล่านี้ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผงฝุ่นเขม่าดำ ที่ทั้งคู่ก็ส่งต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ความร้อนในอาร์กติกยังส่งผลกระทบต่อผู้คนอาศัยในพื้นที่ โดยเฉพาะชนพื้นเมือง และแหล่งหาอาหารของพวกเขา นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้มีความชื้นมากขึ้นจากฝนที่เข้ามาแทนที่หิมะ และการละลายของน้ำแข็งในบางพื้นที่อย่างกรีนแลนด์ก็ส่งผลกระทบให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
ความตกลงปารีสเป็นความตกลงที่ให้ทั่วโลกร่วมกันควบคุมไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม (ขณะนี้ร้อนขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส) เพื่อลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ด้วยวิธีต่างๆไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฟื้นฟู อนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติที่ช่วยดูดซับก๊าซต่างๆ เป็นต้น