แมงลัก มีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก

แมงลัก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ก้อมก้อข้าว (ภาคเหนือ), มังลัก อีตู่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น

แมงลักเป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพราและโหระพา ลักษณะของต้นจะคล้ายกับต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่นและสีใบจะอ่อนกว่า มีลำต้นสูงประมาณ 30-80 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ๆ ดอกและช่อจะออกที่ปลายยอด อาจเป็นชื่อเดี่ยวหรือแตกออกเป็นช่อย่อย ๆ ดอกจะบานจากล่างไปบน กลีบดอกสีขาวแบ่งเป็น 2 ปากและร่วงง่าย เกสรตัวผู้จะยื่นยาวกว่ากลีบดอก ดอกย่อยออกโดยรอบก้านก่อเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีดอกย่อย 6 ดอก แบ่งเป็น 2 ส่วน ดอกตรงกลางจะบานก่อนและช่อดอกย่อยที่อยู่ชั้นล่างสุดของก้านช่อดอกจะบานก่อนเช่นกัน ผล 1 ดอกมีผล 4 ผล มีขนาดเล็ก เรียกว่าเม็ดแมงลัก ซึ่งมีลักษณะกลมรีและมีสีดำ

ต้นแมงลัก ส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็คือเมล็ดแมงลักและใบแมงลัก ซึ่งในส่วนของใบนั้นเรานิยมนำมาใช้ประกอบอาหารหรือใส่เครื่องแกงต่าง ๆ เช่น แกงเลียง เป็นต้น ส่วนเมล็ดก็นำมาใช้ทำเป็นขนมอื่น ๆ ได้หรือนำไปผสมกับเครื่องดื่มก็ได้ เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำขิง น้ำใบเตย (โจ๊กก็ได้นะ) โดยสามารถรับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และยังปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรอีกด้วย

ในประเทศไทยนั้นแมงลักจะมีสายพันธุ์หลักเพียงสายพันธุ์เดียวนั่นก็คือ “ศรแดง” ที่เหลือก็จะเป็นพันธุ์ผสมหรือพันทาง ลักษณะของพันธุ์ศรแดงที่ดีนั้นใบต้องใหญ่พอดี ไม่เล็กเกินไป ดอกสีขาวเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร โดยข้อมูลจากกองโภชนาการกรมอนามัยระบุไว้ว่า แมงลัก 100 กรัมจะมีธาตุแคลเซียม 140 mg. และมีวิตามินเอ 590.56 mcg. ที่สูงกว่ากะเพราและโหระพา แต่กรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่ามี วิตามินเอ 9,164 IU และ วิตามินบี 2 0.14 mg. ซึ่งน้อยกว่ากะเพราและโหระพา แต่มีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ที่สูงกว่า เช่น ธาตุแคลเซียม 350 mg. ธาตุฟอสฟอรัส 86 mg. ธาตุเหล็ก 4.9 mg. วิตามินซี 78 mg. และวิตามินบี 1 0.3 mg. เป็นต้น

สำหรับใครที่เพิ่งเคยรับประทานเม็ดแมงลักในช่วง 2-3 วันแรกอาจจะยังไม่เห็นผลเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะว่าร่างกายกำลังปรับตัว แต่หลังจากรับประทานไปสักระยะหนึ่งก็จะดีขึ้นเอง แต่ถ้าหากรับประทานไปสักระยะหนึ่งแล้วไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงก็ต้องกลับมาพิจารณาทีละจุดว่าเราใส่น้ำในเม็ดแมงลักน้อยเกินไปหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้ใส่เยอะ ๆ หรือรับประทานอย่างถูกวิธีแล้วหรือไม่ (ควรรับประทานหลังอาหารเย็นประมาณ 3 ชั่วโมงกำลังดี) และคุณขับถ่ายในช่วงเวลาตี 5 ถึง 7 โมงเช้าหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะได้ผลน้อย หรือคุณรีบร้อนเกินไป ใช้เวลาขับถ่ายน้อย พยายามเร่งเวลาในการขับถ่ายทำให้ร่างกายไม่ผ่อนคลาย ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ดังนั้นก็อย่าเพิ่งรีบท้อกันไปก่อนละ

 

ถิ่นกำเนิด แมงลัก

แมงลักเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีเอเชีย เช่น อินเดีย,มังคลาเทศ,เนปาล,พม่า,ไทย,สาว,กัมพูชา.เวียดนาม แล้วได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนตามทวีปต่างๆ ของโลก เช่น แอฟริกา และอเมริกา รวมถึงอเมริกาใต้ด้วย นอกจากนี้แมงลักยังเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีหลายสายพันธุ์ แต่ในประเทศไทยนั้นแมงลักจะมีสายพันธุ์หลักเพียงสายพันธุ์เดียวนั่นก็คือ “ศรแดง” ที่เหลือก็จะเป็นพันธุ์ผสมหรือพันทาง

ประโยชน์สรรพคุณ แมงลัก

แมงลัก สามารถใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เช่น ห่อหมก แกงเลียง อ่อม แกงคั่ว ขนมจีนน้ำยา แกงหน่อไม้ มักจะพบมากในอาหารอีสาน โดยส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็คือใบแมงลัก ซึ่งในส่วนของใบนั้นเรานิยมนำมาใช้ประกอบอาหารหรือใส่เครื่องแกงต่าง ๆ ส่วนเมล็ดก็นำมาใช้ทำเป็นขนมอื่น ๆ ได้หรือนำไปผสมกับเครื่องดื่มก็ได้ เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำขิง หรือ น้ำใบเตย โดยสามารถรับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และยังมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
นอกจากนี้ผลแมงลัก ซึ่งมักเรียกว่า “เม็ดแมงลัก”ยังสามารถใช้เป็นยาระบายชนิดเพิ่มกาก เนื่องจากเปลือกผลมีสารเมือก ซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหาร ที่มีกาก เช่น ผัก ผลไม้ ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชา แช่น้ำ 1 แก้ว จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนนอน ถ้าผลแมงลักพองตัวไม่เต็มที่จะทำให้ท้องอืด และอุจจาระแข็ง จากการทดลองพบว่า แมงลักทำให้จำนวนครั้งในการถ่ายและปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้อุจจาระอ่อนตัวกว่าปกติและยังสามารถนำใบมาตากแห้ง 5-7 แดด แล้วนำมาชงเป็นชาดื่มหรือใช้ใบแมงลักนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และน้ำหอม รวมถึงใช้ในด้านความงามต่างๆได้อีกด้วย

  1. ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  2. แก้ลมตานซาง
  3. แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อในเด็ก
  4. ช่วยสมานแผล ล้างแผลทุกชนิด
  5. แก้จุดเสียด
  6. ขับลมในลำไส้
  7. แก้พิษ ตานซาง
  8. แก้ไอ
  9. แก้หวัด
  10. แก้หลอดลมอักเสบ
  11. แก้โรคผิวหนัง
  12. ช่วยขับเสมหะ
  13. แก้กลากแก้เกลื้อน
  14. แก้ลม วิงเวียน
  15. แก้ไอเรื้อรัง
  16. แก้ปวดท้อง
  17. รักษาโรคเกลื้อนน้ำนม
  18. แก้อาการเกร็งของหลอดลมช่วยย่อย
  19. แก้สะอึก
  20. ใช้บดเอาน้ำหยอดหูแก้ปวด แก้หูตึง
  21. ช่วยทำให้ประจำเดือนเป็นปกติ
  22. แก้อาเจียน
  23. ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน


รูปแบบและขนาดวิธีใช้แมงลัก

ใช้ขับลมในลำไส้  อาหารไม่ย่อย อาการอึดอัด แน่นไม่สบายท้อง ช่วยขับเหงื่อ เมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ค่อยสบายให้ นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม บรรเทาอาการหวัด   อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หลอดลมอักเสบ ใช้ใบแมงลัก 1 กำมือล้างสะอาด โขลกคั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไลบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับกรณีของหลอดลมอักเสบให้คั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไล 3 เวลาเช้า-กลางวัน-เย็น แก้ท้องร่วงท้องเสีย  ใบแมงลัก 2 กำมือ ล้างสะอาด โขลกบีบคั้นน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบาย ใช้เมล็ดแก่ของแมงลัก สัก 1 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ปล่อยให้พองตัวดีแล้ว เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแก้ท้องผูก สามารถใช้กับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมได้
ใช้ลดความอ้วน  เปลือกผล (ที่เรียกเมล็ดแมงลัก) มีสารเมือกซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารที่มีกาก ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตาม ช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง ลดปริมาณพลังงานอาหาร ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวและเพิ่ม จำนวนครั้งในการขับถ่ายและปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้นและยังสามารถ ลดอาการท้องผูกด้วย บรรเทาอาการผื่นคัน พิษจากพืช พิษสัตว์กัดต่อย หรืออาการคันจากเชื้อรา ใช้ใบแมงลักสดโขลกพอกบริเวณที่มีอาการ และเปลี่ยนยาบ่อยๆ รักษาโรคกลากเกลื้อนด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10 ใบ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำมาตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อนวันละ 1 ครั้งประมาณ 1-2 สัปดาห์อาการจะดีขึ้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์เป็นยาระบาย  เมล็ดแมงลักช่วยการขับถ่ายเพราะเปลือกด้านนอกสามารถพองตัวได้ถึง 45 เท่า โดยไม่ถูกย่อย ทำให้เพิ่มกากและช่วยหล่อลื่น ทำให้ขับถ่ายสะดวกขึ้น จากการศึกษาในอาสาสมัครโดยให้รับประทานเมล็ดแมงลัก ผสมน้ำ พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณอุจจาระและจำนวนครั้งในการถ่าย  และทำให้อุจจาระอ่อนตัวกว่าปกติ เช่นเดียวกับการรับประทาน psyllium  เมื่อป้อนเมล็ดแมงลัก ขนาด 37.5 มก./กก. ละลายน้ำให้พองตัว ให้หนูขาวและหนูถีบจักร  จะมีผลทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวเทียบเท่ากับการให้หนูกินยาถ่าย metamucil ขนาด 300 มก./กก.

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองกับผู้ป่วยที่จะได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากและนิ่วในไต โดยให้กินยาระบายเมล็ดแมงลัก (เมล็ดแมงลักบดเป็นผง) ขนาดครึ่งถึง 1 ช้อนชา และ 1 ช้อนชาครึ่ง ในน้ำ 150 มิลลิลิตร 3 ครั้งหลังอาหาร/วัน และหลังการผ่าตัด เป็นเวลา 3-8 วัน  และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับเมล็ดแมงลัก พบว่าสัดส่วนอาการท้องผูกหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับ เมล็ดแมงลักเท่ากับร้อยละ 80.6 ขณะที่กลุ่มที่ได้รับเมล็ดแมงลักมีสัดส่วนของอาการท้องผูกเท่ากับร้อยละ 13.3, 31.6 และ 10.5  ตามลำดับ จากการทดลองจะเห็นว่าเมล็ดแมงลักสามารถลดอาการท้องผูกของผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้

เม็ด แมงลัก
เม็ดแมงลัก เม็ดพืชเล็กๆ สรรพคุณหลักคือช่วยลดน้ำหนัก

การศึกษาทางพิษวิทยา

การทดสอบความเป็นพิษ  การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน โดยป้อนเมล็ดแมงลักให้หนูแรทในขนาด 5 กรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว ไม่พบว่ามีพิษใดๆหลังจากนั้น 7 วัน  ในการทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังโดยป้อนเมล็ดแมงลักให้หนู กระต่าย และแมว ในขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน ไม่พบว่ามีพิษต่ออวัยวะต่างๆ และ การทดสอบพิษเรื้อรังโดยการป้อนเมล็ดแมงลักให้หนูแรท ขนาด 0.25, 0.5, 1 และ 2 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของตับ ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (6)   การศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน พิษกึ่งเรื้อรัง และพิษเรื้อรัง ของเมล็ดแมงลัก โดยป้อนเมล็ดแมงลักที่ละลายน้ำให้พองตัว ในขนาด 0.3, 0.5 และ 1 กรัม/กิโลกรัม ให้หนูแรท เป็นเวลา 1 วัน 1 สัปดาห์  และ 1 ปี ก็ไม่พบความเป็นพิษใด ๆ เมื่อฉีดสารสกัดเมทานอล (80%) จากส่วนเหนือดินสด ขนาด 2 ก./กก.เข้าทางกระเพาะอาหารของหนูถีบจักร (23) หรือฉีดผงจากส่วนเหนือดินแห้ง ขนาด 6 ก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว (24) พบว่าสารสกัดและส่วนของพืชที่ใช้ทดสอบไม่มีพิษต่อสัตว์ทดลอง

เอกสารอ้างอิง

  1. พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะ สมุนไพรไทย ใน:พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะ บรรณาธิการ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 กรุงเทพมหานคร.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนท์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).2543.220 หน้า
  2. วงศ์สถิต ฉั่วกุล.แมงลักและแมงกะแซง.จุลสารข้อมูลสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 25 ฉบับที่1.ตุลาคม 2550.หน้า18-20
  3. แมงลัก ,ฐานข้อมูลสมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุข โชคชัยเจริญพร บรรณาธิการ.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน.กรุงเทพ:ประชาชน จำกัด .2524:823 หน้า.
  5. แมงลัก,ฐานข้อมูลสมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. รศ.ดร.สุธาทิพย ภมรประวัติ.แมงลัก คอลัมน์บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 357.มกราคม2552
  7. แมงลัก/ใบแมงลัก(Hairy Basil) สรรพคุณและการปลูกแมงลัก.พืชเกษตรดอทคอม(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  8. แมงลัก.กลุ่มยาถ่าย.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็กพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs_05_8.htm
  9. ชยันต์ พิเชียรสุนทร แม้นมาส ชวลิต วิเชียร จีรวงส์.คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์.กรุงเทพ:อมรินทร์พริ้นติ้งเอนท์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).2544:777หน้า
  10.  บวร เอี่ยมสมบูรณ์. ดงไม้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2518.
  11. Recio MC, Rios JL, Villar A.  Antimicrobial activity of selected plants employed in the Spanish mediterranean area. Part II.  Phytother Res 1989;3(3):77-80.
  12. Ndounga M, Ouamba JM.  Antibacterial and antifungal activities of essential oils of Ocimum gratissimum and O. basilicum from Congo.  Fitoterapia 1997;68(2):190-1.
  13. Hussain RA, Poveda LJ, Pezzuto JM, Soejarto DD, Kinghorn AD.  Sweetening agents of plant origin: phenylpropanoid constituents of seven sweet-tasting plants.  Econ Bot 1990;44(2):174-82.
  14. Singh S, Majumdar DK, Yadav MR. Chemical and pharmacological studies on fixed oil of Ocimum sanctum.  Indian J Exp Biol 1996;34(12):1212-5.
  15. Murakami A, Kondo A, Nakamura Y, Ohigashi H, Koshimizu K.  Possible anti-tumor promoting properties of edible plants from Thailand, and identification of an active constituent, cardamonin, of Boesenbergia pandurata.  Biosci Biotech Biochem 1993;57(11):1971-3.
  16. Ross SA, El-Keltawi NE, Megalla SE.  Antimicrobial activity of some Egyptian aromatic plants.  Fitoterapia 1980;51:201-5.
  17. Farouk A, Bashir AK, Salih AKM.  Antimicrobial activity of certain Sudanese plants used in folkloric medicine. Screening for antibacterial activity (I).  Fitoterapia 1983; 54(1):3-7.

ใส่ความเห็น