ข่าวเศรษฐกิจ ข่าว forex วิเคราะห์โบรกเกอร์ เทรดฟอเร็กซ์ metatrader 4
นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินหน้าขยายโครงการด้านพลังงานทดแทนต่อเนื่อง โดยที่ยังรอความชัดเจนจากแผนพลังงานแห่งชาติฉบับใหม่ที่คาดว่าจะออกมาในช่วงเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการเดินหน้าให้มีความสอดคล้องกัน
ปัจจุบันบริษัทในฐานะ Flagship ผู้นำพลังงานทดแทนของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ได้ดำเนินการในส่วนของการขยายธุรกิจด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป โครงการ Private PPA ควบคู่ไปพร้อมกัน พร้อมกับมีการเสนอแผนให้แก่ลูกค้าแบบเป็นโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์การประหยัดพลังงานครบวงจร ประกอบกับการมองโอกาสในการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนให้ครบวงจร
สำหรับแผนงานในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับกับเทรนด์การใช้รถ EV ที่จะมีแนวโน้มมากขึ้น บริษัทยังเดินหน้าขยายการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ตามเป้าหมาย 5-10 กิกะวัตต์ในระยะเวลา 10 ปี เงินลงทุนรวมราว 3 หมื่นล้านบาท เน้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการลงทุน และสามารถรองรับกับการผลิตรถ EV ในพื้นที่ EEC ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายทิติพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ GPSC ถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้ต้องศึกษาอย่างรอบคอบ แต่บริษัทพร้อมเดินหน้าสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดันประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ให้เกิดขึ้นจริงอย่างจริงจัง และเป็นไปตามนโยบายของประเทศอื่นๆ ที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น
ธุรกิจแบตเตอร์รี่ของบริษัทเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น เหมาะสมกับการใช้งานที่มีซับซ้อนของระบบมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิลได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน เป็นประเภทแบตเตอร์รี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่บริษัทได้เปิดโอกาสให้พันธมิตรที่จะมาร่วมพัฒนาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีหรือการต่อยอดเทคโนโลยีของ 24M เพราะเรื่องเทคโนโลยีมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้การที่ได้พันธมิตรเข้ามาร่วมจะทำให้บริษัทได้รับองค์ความรู้และโซลูชั่นใหม่ๆ เข้ามาเสริม ทำให้สามารถพัฒนาแบตเตอร์รี่ที่มีต้นทุนลดลงได้ในขณะที่แบตเตอร์ก็มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน
“การพัฒนาในธุรกิจแบตเตอร์รี่ถือว่ามีความท้าทาย เพราะเราต้องมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดแต่ได้ต้นทุนที่ต่ำ ทำให้การวิจัยและพัฒนาเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ใครที่มี Know-how และโซลูชั่นที่เข้ามาซัพพอร์ตเราพร้อมเปิดรับเข้ามาร่วม เพื่อมาร่วมกันผลักดันประสิมทธิภาพการผลิตให้ดีที่สุด และได้ต้นทุนที่ต่ำ”
นายทิติพงษ์ กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ บมจ.ปตท. (PTT) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn) เพื่อดำเนินการในส่วนของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และในส่วนของ บมจ.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จะทำในส่วนของการติดตั้ง EV Charger เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถ EV ของกลุ่มปตท.เดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้